ขอเรียนว่า...บันทึกฉบับนี้เป็นบันทึกของคุณลุงของอิฉันเอง สมัยที่
ท่านยังเป็นเด็กชาย และมีโอกาสตามคุณพ่อ หลวงประพัทธ ไปอยู่
ที่จ.สุราษฎร์ธานี และยศสุดท้ายที่ท่านรับราชการคือ
พ.ต.อ.ชนะ เมฆะวิภาต...และนี่คือบทความที่ท่านเขียนเอาไว้
>>>>>
>>>>>
>>>>>
สมรภูมิ ณ บ้านดอน
จังหวัดสุราษฎร์ธานี
วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔
ณ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ยามรุ่งอรุณ มีบรรยากาศอันสดใส เบื้องบนท้องฟ้าเป็น
สีคราม มีควันเมฆสีขาวเป็นปุยเล็กๆ ก้อนยาวๆ สีขาวลอยฟ่องดูงามตา เบื้องล่าง
ลมโชยเบาๆ อากาศในฤดูหนาวเย็นสบายนัก แม่น้ำตาปีอันกว้างใหญ่ กระแสน้ำ
ไหลเอื่อยเป็นลำยาวขาว คดโค้งไปมาตามธรรมชาติ ผิวน้ำเป็นคลื่นพริ้วตามแรงลม
เป็นระลอกเล็กๆ เต็มท้องน้ำ ดูแสนจะงดงามยิ่งในเช้าที่แสนสงบนี้
ในยามเช้า...บ้านเมืองในต่างจังหวัดยังไม่มีการเคลื่อนไหวมากนัก ดูตามทัศนียภาพ
ช่างสดชื่น สวยงาม สงบ เยือกเย็น น่าอยู่อาศัยเป็นอย่างยิ่ง
แต่แล้วก็เกิดมีอันเป็นไป เป็นการเป็นไปตามธรรมชาติของโลก ซึ่งไม่สามารถหลีก
เลี่ยงได้จนเกิดการนองเลือดขึ้น...ซึ่งเหตุการณ์มีดังที่จะเขียนต่อไปนี้
กลิ่นไอสงคราม
ใครจะคาดคิดว่า วันอันแสนสวยแสนสบายจะเกิดการหลั่งเลือด เสียงปืน
ดังแต่เช้าจรดเย็น คร่าชีวิตคนไปมากมาย ใครจะนึกว่า วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔
จะทำให้ชาวสุราษฎร์ ลูกหลานสุราษฎร์ ได้ต่อสู้กับอริราชศัตรูจนถึงขั้น
สละชีวิตเพื่อปกป้องแผ่นดินไทยเกิดขึ้น
และที่สำคัญคือ จังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่มีหน่วยทหารตั้งอยู่เลย มีแต่เพียง
เจ้าหน้าที่สัสดีไม่กี่นายเท่านั้นเอง การปกป้องประเทศในครั้งนี้จึงมีแต่...
ตำรวจไม่ถึง ๘๐ นาย ข้าราชการ ประชาชน ครู นักเรียน เท่านั้น
ท่ามกลางความงดงามของธรรมชาตินี้ มีวัยรุ่นร่างท้วมผู้หนึ่ง ซึ่งอยู่ในเครื่อง
แบบลูกเสือสมุทรเสนา โดยเครื่องแบบนี้ดูคล้ายกับเครื่องแบบทหารเรือสีกากีมาก
เพียงแต่เป็นกางเกงขาสั้น และที่หน้าอกเสื้อด้านขวานั้น ปักชื่อย่อบอกโรงเรียน
ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี กำลังขี่จักรยานอย่างรวดเร็ว จากตลาดมาตามถนน
เลียบแม่น้ำตาปี ผ่านศาลาริมน้ำหน้าศาลากลางจังหวัด แล้วผ่านหน้ากองกำกับ
การตำรวจบ้านดอน เลยมาแล้วก็เลี้ยวเข้าบ้านพักผู้กำกับการซึ่งมีนามว่า...
"นายพันตำรวจโทหลวงประพันธ เมฆะวิภาต"
(ในสมัยนั้นใช้คำนำหน้ายศว่า "นาย") พลางกระโดดลงจากรถจักรยานอย่างรีบร้อน
โดยปล่อยให้รถจักรยานล้มเสียงดังโครมใหญ่อย่างไม่แยแส แล้ววิ่งขึ้นบ้านพัก
ผู้กำกับ ได้พบผู้เขียนนั่งอยู่หน้าบ้านพอดี
"เฮ้ย !! พ่อลื้อล่ะ" ลูกเสือ ผจง รัตนาภิรักษ์ ลูกท่านขุนรัตนาภิรักษ์ ผู้ปั่นจักรยาน
ร้องถามด้วยเสียงอันดัง ระคนตื่นเต้น
"ท่านผู้กำกับครับ" เขาได้ร้องเรียกอย่างเร็วหลายครั้ง ด้วยความกระวนกระวายใจ
"มีอะไรหลานชาย หน้าตาตื่นมาทีเดียว" ผู้กำกับฯ ถามเสียงเรียบ เพราท่านอยู่
บ้านพอดี เนื่องจากวันนี้เป็นวันที่จะต้องเตรียมตัวไปเดินแถวในวันรัฐธรรมนูญ
(วันที่ ๑๐ ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ)
"ทหารญี่ปุ่นครับ ทหารญี่ปุ่นนั่งเรือท้องแบนผ่านบ้านผม มาเต็มแม่น้ำเลยครับ
มุ่งหน้าตรงมาทางนี้" ลูกเสือผจงตอบ
"แล้วทำไมหลานชายรู้ว่าเป็นทหารญี่ปุ่นล่ะ" ท่านผู้กำกับฯ ซักไซร้
"มันพูดคล้ายสั่งการเสียงดังลั่นแม่น้ำเลยครับท่าน" ลูกเสือผจงรีบตอบผู้กำกับฯ ทันที
"มันบุกเราจริงๆ (ประโยคนี้มีคำอธิบายภายหลัง) หลายชายรีบไปบอกให้นายร้อย
เวรบนโรงพักมาพบข้าฯ และให้สั่งพลแตรเป่าแตรรวมพล ให้สิบเวรรัวระฆังมากๆ
และหลานชายรีบกลับบ้านเลยนะ เดี๋ยวคุณพ่อคุณแม่เป็นห่วง" ท่านผู้กำกับฯ บอก
ผู้กำกับฯ รู้จักลูกเสือผจงดี เพราะลูกเสือผจงมาหาผู้เขียนซึ่งเป็นลูกชายที่บ้านพัก
บ่อยๆ เรียนหนังสือก็เรียนชั้นเดียวกัน
"ครับผม" ลูกเสือผจงรับคำสั่ง พร้อมกันนั้นก็กระโดดลงจากบ้านพัก และวิ่งอย่างสุด
ชีวิตไปยังโรงพักทันทีหลังจากรับคำจากท่านผู้กำกับแล้ว..โรงพักดังกล่าวห่างจาก
บ้านพักผู้กำกับประมาณ ๑๐ เมตรเศษเห็นจะได้
และหลังจากลูกเสือผจงวิ่งอย่างสุดชีวิตไปแล้วนั้น เสียงแตรเดี่ยวก็ดังขึ้นเพื่อเรียก
รวมพล โหยหวนขึ้นจบแล้วจบเล่า..ระฆังประจำโรงพักซึ่งปกติเป็นเพียงเสียงสัญญาณ
บอกเวลาเท่านั้น แต่บัดนี้ได้ทำหน้าที่พิเศษคือ เสียงที่ตีก็ตีรัวเป็นชุดๆ อยู่นาน
เสียงแตร เสียงระฆังที่ดังในวันนั้น ผู้เขียนยังคงจำได้มิลืมเลือน เหมือนยังคงดังกึกก้อง
อยู่ในหูของผู้เขียนตลอดเมื่อหวนนึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น
หลังจากนั้นไม่นานนัก นายร้อยเวรฯ ก็วิ่งขึ้นมารายงานตัวเพื่อรับคำสั่ง
"ส่งกำลังตรึงสองจุด ที่ศาลาท่าน้ำศาลากลางหนึ่งจุด" ผู้กำกับรีบสั่งการโดยทันที
ศาลาท่าน้ำหน้าศาลากลางที่ท่านผู้กำกับกำหนดให้เป็นจุดตรึงจุดที่หนึ่งนั้น มีวงเวียน
เล็กๆ มีกำแพงสูงประมาณ ๘๐ เซนติเมตร กลางวงเวียนมีเสานาฬิกา (หรือหอกระจาย
เสียง ผู้เขียนเองก็ไม่ค่อยแน่ใจนัก) มีลักษณะเป็นเสาปูนสี่เหลี่ยม หน้ากว้างประมาณ
๑ ฟุต (เสาต้นนี้ก็เป็นสิ่งเปรียบเทียบกำลังอาวุธของฝ่ายศัตรู ดังจะได้กล่าวต่อไป)
"และในคูทางแยกหลังศาลากลางอีกหนึ่งจุด" ท่านผู้กำกับยังคงสั่งการต่อไป โดยชี้
ไปยังทิศที่ตั้งของทั้งสองจุด
"ถ้ามีกำลังมาเพิ่ม ให้ตั้งเป็นแนวหน้ากระดานติดต่อกันระหว่างสองจุด จุดไหนเพลี่ยง
พล้ำก็ให้ส่วนกลางไปช่วยสนับสนุน แต่อย่างเพิ่งยิงจนกว่าจะได้รับคำสั่ง หรือมีเสียง
ปืนยิงต่อสู้กัน จึงจะทำการยิงตอบโต้ได้"
"ครับผม" นายร้อยเวรฯ รีบวิ่งกลับไปยังโรงพัก ซึ่งในขณะนั้นเสียงแตร และระฆัง ยัง
คงกังวาลควบคู่กันไปตลอดเวลา
นับจากที่ลูกเสือผจงมารายงานเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกต่อผู้กำกับนั้น ไม่ถึง ๑๐ นาที ได้มี
ตำรวจ ประชาชน ถืออาวุธวิ่งออกจากโรงพักไปยังจุดสั่งการทั้งสองจุดเป็นระยะๆ ถึงแม้
จะมีจำนวนคนไม่มากนักก็ตาม
ในการต่อสู้กับอริราชศัตรูครั้งนี้ มีคณะกรรมการจังหวัดพิจารณารายงานการปฏิบัติงาน
ของแต่ละคนว่า ใครสมควรได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิบ้าง แต่มีข้อแม้จาก
หน่วยเหนือว่า ชื่อผู้รับเหรียญชัยจะต้องมีลักษณะบ่งบอกถึงความเป็นเพศชายที่กล้าหาญ
หน่อย ดังนั้นชื่อของลูกเสือผจง และจันทร์แรม ซึ่งเป็นชื่อของผู้เขียนเองก็ได้กลายเป็น
"ผจญ" และ "ชนะ" ตามลำดับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งหากเอ่ยชื่อในการที่จะกล่าวถึงต่อไป
ก็จะใช้ชื่อใหม่ และในโอกาสนี้ทางตำรวจก็ได้ตัดคำนำหน้ายศคือ "นาย" ออกไปตั้งแต่นั้นด้วย
หลั่งเลือด
ท่านผู้กำกับฯ ในเครื่องแบบ คล้องคอด้วยกล้องส่องทางไกลชนิดสองตา
พร้อมด้วยร้อยตำรวจเอกขุนวารินสัญจร (หรือสัญ...อะไรนี่ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจ)
รองผู้กำกับฯ ซึ่งรีบมาพบผู้กำกับฯ ได้ชวนกันเดินทางไปยังจุดวางกำลังตำรวจ
ผู้เขียนเองก็อยู่ในชุดลูกเสือสมุทรเสนาก็ตามไปด้วย
ไปทางข้างโรงพักโดยออกทางสโมสร ผ่านลานตรงไปยังจุดสกัดที่ ๑ คือที่
ศาลาท่าน้ำ ซึ่งขณะนั้นมีนายตำรวจยศร้อยโทนายหนึ่งมารายงานเหตุการณ์
ผู้เขียนเห็นตำรวจนอนเรียงตามริมถนน (ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะเรียกถนนสายนี้ว่า
"สายที่ ๒") หันหน้าไปทางแม่น้ำ มีกองหินเป็นที่กำบัง และมีกำแพงเตี้ยๆ อีก
ส่วนหนึ่ง หันปืนไปตามถนนที่มุ่งมาจากตลาด ท่านผู้กำกับ และรอง ได้เข้าไป
ปลุกปลอบใจตำรวจให้ฮึดสู้ และแนะนำวางแผนการปฏิบัติ
ระหว่างนี้ผู้เขียนได้มองไปตามถนนที่มุ่งมาจากทางตลาด (ถนนสายที่ ๒)
ปรากฎว่ามีแถวทหารตัวเตี้ยๆ ในชุดเขียว เดินเป็นขบวนแถวตอนมายาวมาก
ด้านหน้ามีนายทหารถือธงไตรรงค์ และธงญี่ปุ่นนำหน้า มุ่งตรงมา แต่หยุดห่าง
จากแนวต้านจุดแรกประมาณ ๔๐๐ เมตรเศษ และทหารญี่ปุ่นก็โบกธงไปมา
"พวกญี่ปุ่นคงอยากจะเจรจา เราไปพบเขาหน่อยไป" ผู้กำกับปรารภขึ้น พร้อม
กันนั้นก็ได้ชวนรองผู้กำกับออกไป เพื่อจะไปเจรจากับกองทหารญี่ปุ่น
"อย่าเพิ่งยิง ให้ดูเหตุการณ์ก่อน" ผู้กำกับสั่งกำชับลูกน้องซ้ำ
หลังจากนั้น ทั้งสองก็เดินไปตามถนน มุ่งหน้าไปยังกองทหารญี่ปุ่นทันที หลังจาก
สั่งผู้ใต้บังคับบัญชาแล้ว
ถึงเวลานี้ผู้เขียนเองก็รู้สึกอยากรู้เหตุการณ์ทางด้านตลาดว่าเป็นอย่างไรบ้าง จึง
ตัดสินใจวิ่งไปตามถนนที่ตัดระหว่างจุดสกัดที่ ๑ และจุดสกัดที่ ๒ ตรงนั้นเป็น
ถนนอีกสายหนึ่งซึ่งขนานกับถนนสายที่ ๒ มีคูข้างถนนทั้งสองข้าง โรงเรียน
จินตวร ก็ตั้งอยู่ตรงนี้ด้วย เมื่อถึงถนนหลังศาลากลาง (ถนนสายที่ ๓) ผู้เขียน
เห็นตำรวจหลายนาย ประชาชนหลายคน ลูกเสือนั่งอยู่ในคูข้างถนน ถือปืนตำรวจ
แต่ละคนผู้เขียนไม่รู้จัก เลยวิ่งไปตามถนนสายที่ ๓ นี้ต่อไป
ปลายถนนด้านนี้ไปทางตลาด และเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์
ที่ผู้เขียนเองก็ศึกษาอยู่ด้วย ถ้าไปทางตรงข้ามก็จะไปถึงสถานีรถไฟอำเภอพุนพิน
ซึ่งอยู่ไกลออกไปประมาณ ๑๔ กิโลเมตร
ผู้เขียนได้วิ่งไปตามถนนสายที่ ๓ มาได้เล็กน้อย ก็เห็นลูกเสืออำนวย วิชัยดิษฐ์
วิ่งสวนลงไป แต่ไม่ได้ทักทายกัน และในวันนั้นก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย ผู้เขียนยังคง
วิ่งต่อไปได้อีกประมาณ ๓๐๐ กว่าเมตร ก็เห็นทหารญี่ปุ่นเดินแถวมุ่งหน้ามาทาง
ศาลากลางอีกส่วน ผู้เขียนจึงหยุดวิ่ง
ในขณะนั้น จำได้ว่า ผู้ช่วยสัสดีก็มาถึงใกล้ๆ กัน เป็นขณะที่ผู้เขียนกำลังยืนงงอยู่
ก็ได้ยินเสียงปืนทางด้านจุดสกัดที่ ๑ ซึ่งผู้กำกับ และรอง เจรจาอยู่กับกองทหาร
ญี่ปุ่นอยู่ เสียงปืนดังขึ้นถี่ๆ ในราว ๒ ถึง ๓ นัด ผู้เขียนจึงรีบวิ่งกลับไปจุดสกัดที่ ๒
ทันที
การวิ่งกลับนี้ ได้วิ่งบนถนนตลอด วิ่งไปด้วยความตกใจ และได้เห็นผู้ช่วยสัสดีวิ่ง
มาด้วยและกระโดดหลบลงคูไป เมื่อถึงศาลากลางเห็นแว๊บๆ ว่าที่ใบหน้าของผู้ช่วย
สัสดีมีเลือดเปื้อนอยู่ เข้าใจว่าจะถูกกระสุนตอนวิ่งหลบลงคูข้างทาง ส่วนผู้เขียน
เองตกใจ และไม่เข้าใจการหลบหลีก ได้แต่วิ่งหนีให้รอดปลอดภัยจากคมกระสุน
ของศตรู ซึ่งก็รอดมาได้อย่างน่าประหลาดใจเหมือนกัน
และขณะที่ผู้เขียนกระโดดข้ามคูเข้าใต้ถุนศาลากลางซึ่งเป็นใต้ถุนสูง ก็เห็นครูลำยอง
ศุภกาญจน์ ซึ่งเป็นครูประจำชั้นของผู้เขียนเองถือปืนกระโดดลงไปในคู เพื่อลงไป
ยิงสู้กับทหารญี่ปุ่น ผู้เขียนได้วิ่งกลับมาที่โรงพัก เห็นมีลูกเสือ ประชาชนหลายคน
ผู้เขียนได้รับมอบหมายจากจ่ากองฯ ให้ทำหน้าที่แจกจ่ายกระสุนที่บรรจุอยู่ในกระป๋อง
และให้ประชาชน ลูกเสือ ที่มาช่วย นำไปแจกจ่ายแก่ผู้ที่ต่อสู้กับศัตรูด้วย ซึ่งถ้ากระสุน
หมดก็ให้กลับมาเอาเพิ่มเติมใหม่ ซึ่งต่างคนต่างแยกย้ายกันไป
เมื่อผู้เขียนได้ไปแจกกระสุนที่จุดต้านที่ ๑ รู้สึกว่า กระสุนฝ่ายศัตรูหนาแน่นมาก จึงได้
คลานเข้าไปแจกกระสุนแก่ตำรวจ ตำรวจนายนี้ไม่ให้ผู้เขียนเข้าไปแจกกระสุนเอง แต่
พวกเค้าได้โยนต่อๆ กันไป
การที่ลูกเสือ รวมทั้งผู้เขียน และประชาชนที่ได้รับหน้าที่แจกจ่ายกระสุน ก็เพราะพวก
ตำรวจเหล่านี้รีบมาประจำจุด จึงได้กระสุนจากสิบเวรฯ แค่จากตู้กระสุนฉุกเฉิน ทำให้มี
กระสุนติดตัวกันมาน้อยมาก
เสียงปืนยิงต่อสู้ยังคงดังอยู่ตลอดเวลา เมื่อผู้เขียนได้แจกจ่ายกระสุนหมดกระป๋องแล้ว
จึงวิ่งกลับไปยังโรงพักเพื่อเอากระสุนมาเพิ่มอีก เมื่อได้รับเรียบร้อยแล้วก็วิ่งผ่านสนาม
หน้าศาลากลาง ได้สวนทางกับหญิงสาวคนหนึ่ง จำได้ว่านุ่งกางเกงขาสั้นสีขาว หอบหิ้ว
บุหรี่ ขวดเหล้า และกระป๋องอาหาร วิ่งสวนไปทางจุดต้านที่ ๑ (ในวันนั้น อากาศเย็น
เหล้าก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น และทำให้จิตใจฮึกเหิม ห้าวหาญ ไม่
หวาดวิตก) ผู้เขียนคาดว่า หญิงสาวผู้นี้คงนำเสบียงไปแจกจ่ายกับผู้ที่ต่อสู้กับศัตรู จึงนึก
ชมน้ำใจในความกล้าหาญของเธอ
ผู้เขียนเองได้เห็นผู้หญิงเพียงคนเดียวในสมรภูมินี้ มาทราบภายหลังว่าเธอชื่อ คุณกอบกุล
ไม่ทราบนามสกุล และมาทราบเพิ่มเติมอีกว่า เธอทำงานที่คลังสินค้าของราชการที่สี่แยก
คอกวัว (คล้ายศูนย์การค้าขณะนี้ ซึ่งได้ถูกเผาไปในครั้งเกิดการจราจลในกรุงเทพมหานคร)
เมื่อไปถึงจุดต้านที่ ๒ ทราบว่า ครูลำยองถูกยิงที่ศีรษะ นำตัวส่งโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว
สภาพอากาศขณะนั้นฝนตกปรอยๆ ลงมาได้พักใหญ่แล้ว เปียกปอนกันหมด ผู้เขียนเอง
รู้สึกหนาวและสั่นน้อยๆ แต่ปราศจากความกลัวใดๆ เลยจากเหตุการณ์
ถึงตอนนี้เริ่มมีผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งพวกเราได้ช่วยกันลำเลียงขึ้นรถสามล้อถีบเพื่อส่ง
ไปยังอนามัยที่ไกลออกไปประมาณ ๘๐๐ เมตร และต้องถีบไปตามถนนสายที่ ๒ และ ๓
ซึ่งอยู่ในวิถีกระสุนพอดี...ทำให้ต้องแอบและหลบกันไปอย่างทุลักทุเลทีเดียว....
ภาพประกอบที่ไม่เกี่ยวใดๆ กับสงคราม
ความหวังที่รอคอย
ผู้เขียนหลบไปอยู่กับตำรวจด้านแนวริมแม่น้ำใกล้กับจุดต้านที่ ๑ ริมถนนสายที่ ๒
ทราบว่า คณะกรรมการจังหวัดฯ ได้ประชุมกันอยู่ห่างจากจุดที่ ๑ ประมาณ ๕๐๐
เมตร และได้ให้คนนั่งรถไปสถานีรถไฟ ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๑๔ กิโลเมตร
เพื่อไปส่งโทรเลขถึงทางจังหวัดชุมพร และจังหวัดนครศรีธรรมราช รายงานเรื่อง
การถูกรุกรานจากทหารญี่ปุ่น และพร้อมกันนี้ได้ขอกำลังทหารช่วยเหลือด่วน
การไปส่งโทรเลขครั้งนี้ ไม่สามารถไปส่งที่สถานีไปรษณีย์ได้ เพราะอยู่ในตลาด
ถูกทหารญี่ปุ่นยึดไว้แล้ว โดยทหารญี่ปุ่นได้เอาธงมาถือนำแถว เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์
ก็ได้หลบหนีไปหมด จึงต้องไปส่งโทรเลขที่สถานีรถไฟอำเภอพุนพิน วิทยุต่างๆ
ในสมัยนั้นก็ไม่มีเอาเลย การยิงต่อสู้กันก็ยังคงต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา
จนกระทั่งช่วงเวลาประมาณบ่าย (ไม่ค่อยแน่ใจเรื่องเวลาสักเท่าใดนัก เพราะผู้เขียน
ก็เป็นเด็กอยู่ จึงกะเวลาเอาเอง และถึงแม้ผู้ใหญ่บางท่านเท่านั้นถึงจะมีนาฬิกาข้อมือ)
"ไชโย ๆๆๆๆ" เสียงของบรรดาผู้ที่ต่อสู้ศัตรูในจุดที่ ๑ ต่างพากันร้องอย่างสุดเสียง
ด้วยความโสมนัส...
"มาแล้วๆ มาช่วยแล้ว" ทุกคนต่างร้องตะโกนด้วยความเปรมปรีดีใจ เพราะได้เห็น
เครื่องบินบินตรงมาจากทางด้านทิศใต้
เครื่องบิน บินเลียบมาตามลำแม่น้ำตาปี มุ่งตรงมาทางจุดต้านที่ ๑ เพราะคิดว่า เครื่อง
บินฝ่ายเรามาช่วยแล้ว ทหารคงจะตามมาด้วย แต่เมื่อเครื่องบินโฉบลงมาไม่ต่ำนัก
ก็มีเสียงป๊อกๆๆๆ แล้วก็มีเสียงบางอย่างตกลงริมน้ำใกล้ตลิ่งที่พวกเรานอนเรียงราย
กันอยู่ เครื่องบินที่พวกเราเห็นบัดนี้ต่ำลงมาจึงเห็นสัญญลักษณ์ที่ปลายปีกเป็น...
วงกลมสีแดง...
"เฮ้ย!!! ญี่ปุ่นนี่หว่า" เสียงหนึ่งตะโกนแทรกเสียงหึ่งๆ ของเครื่องบิน..เท่านั้นแหละครับ
"เฮ้ย!! เครื่องบินญี่ปุ่นโว้ย!! หลบๆๆๆ" ไอ้ที่ดีใจ ไอ้ที่ไชโย กันเย้วๆ ด้วยความดีใจ
กลายเป็นดับวูบลงในทันใด
ขณะเดียวกันนั้นก็มีเสียงให้สัญญาณข้ามถนน "วิ่ง" ดังๆ พวกตำรวจ ลูกเสือ รวมทั้ง
ผู้เขียนเองก็พากันวิ่งข้ามถนน กระโดดลงคูข้างถนนอีกด้านหนึ่งอย่างรวดเร็ว เพราะ
เกรงว่าทหารญี่ปุ่นซึ่งอยู่ด้านเหนือยิงเอา
การวิ่งข้ามถนนเป็นการหลบวิถีกระสุนเครื่องบิน มีหลายคนยิงเครื่องบินด้วยความโมโห
ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่มีความหมาย (ถ้าเป็นปืนกลก็ไม่แน่หรอกญี่ปุ่นเอ๊ย) พวกเราวิ่งข้ามถนน
พร้อมๆ กันและก็ปลอดภัยดี เครื่องบิน บินวนอยู่ ๒ ถึง ๓ รอบ ก็บินกลับไป มันคงมา
สังเกตุการณ์ เพราะจังหวัดอื่นๆ เขาเลิกยิงกันไปแล้ว เหลือก็แต่ที่บ้านดอนนี่แหละที่ยัง
คงต่อสู้กันอยู่ ภาคพื้นดินของทหารญี่ปุ่นคงรายงานขึ้นไปว่าไม่น่าหนักใจ
หลังจากหลบวิถีกระสุนมาได้ ผู้เขียนได้ไปที่อนามัยจังหวัด ได้พบผู้กำกับฯ และคณะ
กรรมการจังหวัดฯ ซึ่งได้ประชุมกันอยู่ที่นี่ ท่านผู้กำกับ ได้สั่งให้ผู้เขียนไปบอกนาย
ตำรวจว่า ถ้าต้องถอยก็ให้ถอยไปรวมกันอยู่ที่บ้าน...?? (บ้านอะไรผู้เขียนจำไม่ใคร่ได้)
แต่ถอนไปทางสถานีรถไฟ
ผู้เขียนได้ไปยังจุดต่อต้านที่ ๑ เพื่อบอกความตามคำสั่งของผู้กำกับฯ กับนายตำรวจที่นั่น
แล้วกลับมาอยู่ที่อนามัยเหมือนเดิม
เสียงกึกก้องของการยิงกันยังคงดังอยู่ตลอดเวลา โดยเสียงปืนฝ่ายเราดังเป็นนัดๆ แต่
ของทหารฝ่ายญี่ปุ่นดังเป็นชุดๆ ซึ่งหมายถึงเสียงปืนกลนั่นเอง
ผู้เขียนรับราชการตำรวจในเวลาต่อมา
จบการหลั่งเลือด
เมื่อความหวังที่รอคอยเงียบหาย แต่พวกเราก็ยังคงรอต่อไปอีกเช่นเดิม...
ทหารคงจะมา...???
คณะกรรมการจังหวัดฯ ได้แจ้งให้พวกเราทราบในเวลาเย็นวันนั้นว่า ทาง
รัฐบาลไทยได้อนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยได้ โดยให้ระงับการ
ต่อต้าน พวกเราจึงได้จัดการยกธงขาว (ผู้เขียนคาดว่าคงเป็นผ้าปูที่นอน เพราะ
แลดูใหญ่มาก) ผูกติดกับไม้ ถือไปโดยนั่งรถสามล้อถีบจากอนามัยมุ่งหน้า
ไปตามถนนสายที่ ๒ ท่ามกลางเสียงปืนที่กึกก้องอยู่ แต่เสียงก็ห่างๆ ไป
พอรถออกไปได้ประมาณ ๑๐ วา เสาธงก็หักลง พวกที่อยู่กับรถธงต่างวิ่งหลบ
กันไป เพราะไม่ทราบว่าเสานั้นถูกกระสุนปืนกลหรือไม่ เพราะเสียงปืนยังคง
ดังอยู่เป็นระยะๆ...ทางฝั่งไทยต้องจัดการเปลี่ยนธงกันใหม่แล้วเข็นรถมาทาง
ด้านสถานีตำรวจและศาลากลาง
หลังจากนั้นผู้เขียนได้แวะเข้าบ้าน ก็ได้พบว่าบ้านมีสภาพถูกรื้อค้น ข้าวของ
กระจุยกระจาย หมวก กระบี่ของผู้กำกับฯ ซึ่งเป็นบิดาของผู้เขียนเองถูกเหยียบ
เสียจนบิดงอ เสียหายใช้การไม่ได้
ต่อจากนั้น ผู้เขียนก็ได้วิ่งขึ้นไปบนโรงพัก เห็นสภาพการถูกรื้อค้นสิ่งของกระจาย
เช่นเดียวกัน แต่ตอนยังมีตำรวจอยู่หลายนายแล้ว ผู้เขียนจึงมุ่งที่จะเดินไปยังจุด
ต่อต้านที่ ๑ ในขณะนั้นเริ่มพลบค่ำแล้ว ศาลากลางก็กำลังถูกไฟไหม้หนักและ
ไม่สามารถทำการดับเพลิงลงได้ ทั้งนี้ไม่ทราบว่า เป็นฝีมือของใคร ทหารญี่ปุ่น
หรือพวกเรากันเอง (ที่สงสัยนั้นเพราะขณะนั้นมีการปลุกใจเหล่าประชาชนว่า
ถ้าข้าศึกยึดก็ขอให้ยึดได้แค่แผ่นดิน คน และสิ่งของจะต้องไม่มีให้ยึด)
พอผู้เขียนเดินไปถึงที่หมายคือ จุดต้านที่ ๑ ผู้เขียนก็ถูกทหารญี่ปุ่นจี้ตัว พูดเอะอะ
มีทหารมาหลายคน ผู้เขียนคิดว่า ญี่ปุ่นคงนึกว่าเป็นทหารเรือ ผู้เขียนต้องชี้ที่ตัวเลข
ประจำตัว แบมือ และทำท่าอ่านหนังสือ เข้าใจว่าภาษาใบ้คงพอบอกอะไรได้บ้าง
ผู้เขียนจึงถูกต้อนไปรวมกันกับประชาชนอีกหลายสิบคน โดยต้อนไปรวมกันที่
วงเวียนศาลาท่าน้ำ
ผู้เขียนนั่งอยู่บนขอบกำแพง ขณะนั้นพวกทหารญี่ปุ่นก็ได้ก่อกองไฟกับเสาหอนาฬิกา
ทำให้เกิดแสงสว่างไปไกล เพราะในขณะนั้นไฟฟ้าก็ดับ และไม่นานนักมีนายทหาร
ญี่ปุ่นได้นำกระดาษประกาศแผ่นใหญ่มาอ่านให้พวกเราฟัง จำไม่ได้อีกว่าคนไทย
หรือคนญี่ปุ่นเป็นคนอ่านประกาศ
"รัฐบาลไทยได้อนุญาตให้กองทัพทหารญี่ปุ่นปลงทัพในประเทศไทยได้ ไม่ต้อง
ต่อต้าน ฯลฯ..."
ระหว่างที่ฟังการอ่านประกาศอยู่นั้น ทหารญี่ปุ่นกำลังขนทหารที่บาดเจ็บ และล้มตาย
มากองเรียงกันไว้ แล้วทำการลำเลียงลงเรือที่ศาลาท่าน้ำไม่ต่ำกว่า ๕๐ นายทีเดียว
และเมื่อทหารญี่ปุ่นอนญาตให้พวกเรากลับหลังจากที่ฟังประกาศแล้ว ผู้เขียนเองก็
เดินกลับไปตามถนนสายที่ ๒ ซึ่งเป็นถนนที่เลียบแม่น้ำตาปี เพื่อกลับบ้านซึ่งอยู่ข้าง
โรงพักบ้านดอน เมื่อถึงบ้านก็ได้ทำการจัดเก็บข้าวของที่กระจุยกระจายจากการถูก
รื้อค้น สักครู่ก็ได้พบกระปุกสตางค์ตกอยู่มีทั้ง ๕ สตางค์และ ๑๐ สตางค์ ตกกระจาย
อยู่เต็มไปหมด จึงเก็บใส่กระเป๋ากางเกงตัวเองไว้
ที่บ้านขณะนั้น คุณแม่ คุณน้า คุณยายและพวกน้องๆ อีก ๕ คน ไม่มีใครอยู่บ้านเลย
ผู้เขียนคาดว่า คงจะหาทางหนีเพื่อหาที่ปลอดภัยจากเหตุการณ์ร้ายในวันนั้นเอง
ตกสายวันรุ่งขึ้น คุณแม่ คุณน้าและคุณยาย ตามด้วยพวกน้องๆ ก็พากันกลับมาบ้าน
อย่างปลอดภัย คุณแม่บอกผู้เขียนว่า ได้รับการช่วยเหลือให้ลงเรือของกู๋เชียงใน
คลองมะขามเตี้ย
"ไอ้พวกทหารญี่ปุ่นนี่เหลือเกิน สตุ้งสตางค์ก็เอาไปหมด" คุณแม่ของผู้เขียนบ่นเมื่อ
เห็นกระปุกสตางค์ที่ตกหล่นแตกกระจายอยู่ แต่ไม่มีสตางค์เหลืออยู่เลย
"...." ผู้เขียนเองได้แต่ยิ้มแหยๆ ไม่ได้พูดอะไรออกไป และก็ถือโอกาสโยนความผิด
ให้กับพวกทหารญี่ปุ่นไปซะเลย เพราะผู้เขียนเกิดความโมโหที่ญี่ปุ่นมาบุกรุกบ้านเมืองเรา
สำหรับลูกเสือผจญ รัตนาภิรักษ์ ได้เขียนบันทึกการปฏิบัติหน้าที่ของเขาให้ผู้เขียนไว้
ประมาณ ๖ ถึง ๗ แผ่น เป็นการบันทึกเรื่องราวที่เขาได้ต่อสู้เพื่อต่อต้านทหารญี่ปุ่น ณ
จุดสกัดที่ ๒ อยู่นาน ซึ่งเป็นการบันทึกจากความภูมิใจที่ได้ต่อสู้เพื่อชาติบ้านเมือง อันถือ
ว่าเป็นการร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ครู และประชาชนชาวบ้านดอน
แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะบันทึกดังกล่าวนี้ ได้ถูกน้ำท่วมบ้านเสียหาย เมื่อครั้ง
น้ำท่วมกรุงเทพมหานครครั้งใหญ่ที่ผ่านมา เอกสารสำคัญหลายอย่างของผู้เขียนเองก็
เสียหายไม่สามารถนำมาใช้ได้
ทางด้านลูกเสืออำนวย วิชัยดิษฐ์ ที่วิ่งสวนกันที่ถนนสายที่ ๓ นั้น ผู้เขียนได้มาพบกันอีก
ครั้งเมื่อตอนอายุ ๗๐ กว่าปี ก็ได้รื้อฟื้นความหลังกันเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ โดยลูกเสือ
อำนวยเองได้เล่าว่า ได้ไปที่ศาลากลาง พบข้าหลวง ซึ่งข้าหลวงให้ไปช่วยทางสนามบิน
ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากจุดต่อสู้ในราว ๔ กิโลเมตร โดยได้รับคำสั่งให้ไปบอกนายสนามบิน
ถึงเหตุการณ์ที่บ้านดอน และลูกเสืออำนวยก็ได้อยู่สนามบินตลอดจนกระทั่งมีทหารญี่ปุ่น
มายึด จึงได้หลบหนีไป
ผู้เขียนอยากให้ผู้ประสบเหตุการณ์ได้บันทึกเหตุการณ์และสิ่งที่ได้พบเห็นส่งคนกลางสักคน
ที่อำเภอเมือง สุราษฎร์ฯ เพื่อรวบรวมเป็นเรื่องราวของจังหวัดสุราษฏร์ที่สมบูรณ์
กล่าวมาถึงตอนนี้ยังไม่จบนะครับ เพราะนี่เป็นเรื่องของผู้เขียนเอง ยังมีเรื่องราวทางด้านท่าน
ผู้กำกับฯ และรองที่จุดสกัดที่ ๑ หรือเหตุการณ์บนถนนสายที่ ๒ ซึ่งมีการเจรจากับทหาร
ญี่ปุ่น อันเป็นเหตุการณ์เสี่ยงตาย และเด็ดเดี่ยวของท่านผู้กำกับและรอง ซึ่งไม่ยินยอมให้
ทหารญี่ปุ่นผ่าน จนทำให้ทหารญี่ปุ่นสั่งรบ
ติดตามตอนต่อไปเลยครับ ผมจะนำท่านเข้าสู่สมรภูมิเลือดบนถนนสายที่ ๒ อันแสนจะดุเดือด
เป็นอันดับต่อไป...
ภาพเก่าๆ ที่คุณลุงเก็บเอาไว้
บรรพบุรุษ
ลุง ป้า แม่ และน้า
สละชีพเพื่อชาติ
ผู้เขียนค้างด้านนี้ไว้ตอนที่ท่านผู้กำกับคือ นายพันตำรวจโทหลวงประพันธ
เมฆะวิภาต และท่านรองผู้กำกับคือ ขุนวารินทร์ เดินเข้าไปเพื่อจะเจรจากับ
กองทหารญี่ปุ่นเพียง 2 นายเท่านั้น
"สวัสดีครับ ท่านผู้กำกับ" ทหารญี่ปุ่นเอ่ยทักทายเป็นภาษาไทยค่อนข้าง
ชัดเจน หลังจากได้เผชิญหน้ากับผู้กำกับและรองผู้กำกับ โดยมีระยะห่าง
ประมาณ 5 ก้าว
"เอ้า คุณเองหรือ" ผู้กำกับรู้สึกประหลาดใจกับทหารญี่ปุ่นที่ยืนเผชิญหน้า
กันอยู่
"ดีละ จะได้รู้เรื่องกัน" ผู้กำกับได้พูดออกไป พร้อมกันนั้นก็ได้สังเกตุทหาร
ผู้นี้ซึ่งอยู่ในเครื่องแบบทหารเต็มยศ ยศร้อยโทและมีดาบซามูไรห้อยอยู่ทาง
ด้านซ้ายของลำตัว
นายทหารญี่ปุ่นนายนี้เป็นที่รู้จักของเหล่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ และประชาชนชาว
สุราษฎร์ธานีในตลาดเป็นอย่างดี เพราะเขาคือพ่อค้าชาวญี่ปุ่น ขายของใน
ตลาดบ้านดอน เขาขายสินค้าหลายอย่าง เช่น จานชามกระเบื้อง เป็นต้น...
ซึ่งขายมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว
ท่านผู้อ่านคงคิดเหมือนผู้เขียนนะครับ การยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นนี้
เหมือนกันหมดแทบทุกจังหวัด เป็นการเตรียมการวางแผนทำความสนิทสนม
ปะปนกลมกลืนกับคนในพื้นที่ไว้ล่วงหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป และก่อนมี
การยกพลขึ้นบก มีหมอชาวญี่ปุ่นมาตรวจนักเรียน อ้างว่าช่วยตรวจโรค
มาเลเรีย เชื่อว่าเป็นการมาหาข่าวมากกว่า
"ทางรัฐบาลไทยได้อนุมัติให้กองทัพญี่ปุ่นตั้งฐานทัพ และเดินทางผ่านประเทศ
ไทยได้แล้วครับ" นายทหารญี่ปุ่นในคราบพ่อค้าได้แจ้งจุดประสงค์กับผู้กำกับ
ให้ทราบ
"แต่ทางจังหวัดเรายังไม่ได้รับคำสั่งใดๆ เลย และก็ไม่ทราบเรื่องนี้ด้วย ทางญี่ปุ่น
จะทำอย่างใดต่อไปเมื่อขึ้นบกมาที่นี่" ผู้กำกับได้ตอบกลับไป พร้อมทั้งสอบถาม
ด้วยความสงสัย
"ทางเราจะพักทัพที่บ้านดอนนี้ และต้องเดินทางไปสนามบินเพื่อรับเครื่องบิน"
ทหารนายนั้นได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ให้ผู้กำกับทราบ
"ถ้าทำอย่างที่ว่ามานี้ไม่ได้หรอก เพราะทางฝ่ายเรายังไม่ได้รับคำสั่งใดๆ เลย
พวกท่านพักอยู่เฉยๆ และรอคำสั่งก่อน อย่างไรคงมีคำสั่งลงมาในเร็วๆ นี้แน่"
ผู้กำกับคงยืนยันให้รอคำสั่ง นั่นหมายถึงการไม่อนุญาตให้ไปสนามบิน หรือ
สถานที่ใดทั้งสิ้น
หลังจากฟังคำชี้แจงจากท่านผู้กำกับ และหันไปแปลคำพูดเป็นภาษาญี่ปุ่นให้
นายทหารอีกนายหนึ่งฟัง นายทหารญี่ปุ่นนายนั้นฟังแล้วนิ่งอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง แล้ว
พูดภาษาญี่ปุ่นเร็วปรื๋อ...
"พวกเราต้องรีบไปสนามบินตามแผนที่วางไว้" นายทหารพ่อค้าได้อธิบายให้
ผู้กำกับเข้าใจความหมายที่นายทหารญี่ปุ่นนายนั้นพูด
"ไปไม่ได้ ทางเรายอมไม่ได้" ผู้กำกับก็ยังคงยืนยันการไม่อนุญาตให้ทำการใดๆ
"นายทหารล่ามได้แจ้งข้อความยังนายทหารผู้นั้นอีกครั้ง..ซึ่งคราวนี้ผู้กำกับก็ได้
เห็นสีหน้าของเขาเริ่มเครียด บึ้งตึงและแดงก่ำ
และหลังจากนั้นเค้าก็หันไปสั่งการกับกองทหารด้านหลังทันที โดยกองทหารเหล่า
นั้นต่างกระจายแถว กระโดดลงคูสองข้างทางอย่างรวดเร็ว
"คุณหลวงกลับไปก่อน เขาใจร้อน คุณหลวงกลับไปก่อน" ทหารพ่อค้ารีบบอกกับ
ผู้กำกับโดยเร็ว และตัวเองก็เดินลงคูข้างถนนไป
"ท่ารองฯ เราถอยก่อน ใจเย็นๆ มันคงไม่ทำอะไรเรา" ผู้กำกับปลอบใจท่านรองฯ
ก่อนที่จะหันหลังกลับเดินก้าวยาวๆ ไปหาจุดต่อต้านของฝ่ายเรา
การเดินกลับนี้ เหลือระยะทางอีกประมาณร้อยเมตรจะถึงจุดหมาย ทันใดก็มีเสียง
ปืนจากด้านหลัง ซึ่งเป็นของฝ่ายทหารญี่ปุ่น 2 นัดติดต่อกัน
"มันยิงขู่นะ ท่านรองฯ" ผู้กำกับพูดขึ้นเพื่อปลอบใจรองฯ พร้อมทั้งรีบพากันลงไป
ริมถนนที่เป็นเขตสุดรั้วบ้านของท่านผู้พิพากษา ซึ่งตรงนั้นมีทางลงคูออกไปแม่น้ำ
ได้ หลังจากนั้นเสียงปืนของทหารญี่ปุ่นก็เริ่มหนาหูขึ้น
"ไม่เป็นไรนะ ท่านรอง" เสียงผู้กำกับถามรองที่กำลังเดินตามกันมา
"โอ๊ย!! ท่านผู้กำกับ ผมถูกยิงครับ...ที่ขา" ขุนวารินทร์ร้องบอก
"ทนหน่อยนะ เลาะตลิ่งไปอีกนิดเดียวก็จะถึงฝ่ายของเราแล้ว" ผู้กำกับพูดให้
กำลังใจ แล้วช่วยพยุงเลาะริมตลิ่งไปสู่ศาลาท่าน้ำอย่างทุลักทุเล
เมื่อถึงที่หมาย ผู้กำกับก็ขึ้นไปยังแนวยิง เพื่อส่องกล้องส่องทางไกลที่ห้อยคออยู่
ตลอดเวลา สังเกตุการณ์ทางด้านกองทหารญี่ปุ่น แต่ต้องรีบลดกล้องลงมาอย่าง
รวดเร็ว ไม่ใช่เห็นภาพที่น่ากลัวอะไรหรอกครับ เป็นขี้โคลนที่น่าจะโดนแรงกระแทก
จากลูกปืนกระเด็นมาแปะที่กระจกกล้อง ต้องเช็ดขี้โคลนเป็นการใหญ่
เรื่องกล่องส่องทางไกล กับคำพูดที่ผู้กำกับพูดว่า "มันบุกเราจริงๆ " ตอนลูกเสือ
ผจญไปรายงานครั้งแรกนั้น ท่านผู้กำกับเคยพูดอยู่เสมอๆ ว่า ญี่ปุ่นมาอยู่ที่
อินโดจีนมากขึ้นเรื่อยๆ น่ากลัวจะประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรแน่ ก่อน
หน้านี้ท่านมีเงินอยู่ประมาณสองพันบาท ตั้งใจไว้ว่า จะซื้อวิทยุไว้ฟังข่าวดี หรือ
จะซื้อกล้องส่องทางไกลดี ท่านเชื่อว่าทหารญี่ปุ่นต้องบุกไทยแน่ เพื่อจะไปมลายู
หรือมาเลเซียสมัยนี้ ทั้งยังจะต้องยกไปประเทศพม่าอีกด้วย ซึ่งท่านก็พูดอยู่เสมอๆ
จึงได้ตัดสินใจซื้อกล้องส่องทางไกลเพื่อใช้ในราชการดีกว่า แต่อนิจจาได้ใช้กล้อง
ในราชการสมใจ ครั้งแรกก็เจอโคลนเข้าเต็มเปาเลย
หลังจากนั้น ผู้กำกับก็ถูกตามตัวไปประชุมกับคณะกรรมการจังหวัดที่โรงพยาบาล
ดังได้เล่าไว้ในข้างต้น
ตลอดทั้งวันมีการยิงกันอย่างหนักหน่วง รุนแรง จากฝ่ายจะเข้ายึดกับฝ่ายต้านทาน
อย่างไม่มีใครยอมใคร...!!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น